หมวดหมู่: ธปท.

1AA1A3A1bot05


กนง.มติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

 

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2564

   นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 29 กันยายน 2564

   คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

       คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านมาตรการด้านการเงินมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

      เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ ณ เดือนสิงหาคม โดยแม้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยในปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์

     ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังไม่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยยังต้องติดตามแนวโน้มการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

      สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง โดยการกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

      คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

      ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

1AA1A3A1bot

แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม ปี 2564

      ​เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2564 ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงในหลายหมวดตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว หลังการระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้น ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ ประกอบกับการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption สำหรับ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวทั้งรายจ่ายเงินโอนและรายจ่ายประจำ

      ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลง และการปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

      เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน

     มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายสินค้าและหลายตลาด เป็นผลจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ และ ปัญหา supply disruption ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การปิดโรงงานชั่วคราวในไทยเพื่อจำกัดการระบาด ปัญหาการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์

       อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และโลหะ ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ประกอบกับปัญหา supply disruption ในภาคการผลิต ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในหลายหมวด

     เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านการก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้าง ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้าง

     จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่

      มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งหมวดสินค้าทุน ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตและการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในบางหมวดลดลงจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ลดลงตามการผลิตรถยนต์

       การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้เล็กน้อย โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวต่อเนื่อง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน

       ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุปทานล้นตลาด ประกอบกับมีผลของมาตรการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น   

ธนาคารแห่งประเทศไทย

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C J

BITKUB Ad

SAM720x100px bgGC 790x90

smed banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!