หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV1 copy copy


ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) .. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) .. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยรับความเห็นหน่วยงานไปประกอบการพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 

          สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

          แก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของคณะกรรมการประกันสังคม คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม กรรมการการแพทย์ และกรรมการอุทธรณ์แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาและคณะกรรมการการแพทย์แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการประกันสังคมมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ประกันตนเกี่ยวกับสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง การให้ผู้รับบำนาญสามารถกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรโดยเป็นการเหมาจ่าย รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราการได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้ของผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ หลักเกณฑ์การรับเงินบำนาญชราภาพ และหลักเกณฑ์การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน กำหนดมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้าง รายละเอียดดังนี้

          1. แก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของคณะกรรมการประกันสังคมในส่วนของผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคม กรรมการการแพทย์ และกรรมการอุทธรณ์ แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคมที่ปรึกษา และคณะกรรมการการแพทย์ให้มีเพียงวาระเดียว และแก้ไขอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการของคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น

          2. แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการประกันสังคมมีอำนาจในการวางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินของกองทุน และการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และวางระเบียบและกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

 

EXIM One 720x90 C J

 

          3. แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขของการเป็นผู้ประกันตน ดังนี้

                 3.1 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และจากเดิมอายุไม่เกิน 60 ปี เป็น อายุไม่เกิน 65 ปี หรืออายุขั้นสูงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเป็นผู้ประกันตน เพื่อให้แรงงานกลุ่มผู้สูงอายุได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคม

                 3.2 กำหนดให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้ว จากเดิม ไม่น้อยกว่า 12 เดือน เป็น ไม่น้อยกว่า 48 เดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลง ถ้าผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเพื่อปรับเงื่อนไขในส่วนของระยะเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนที่ต้องการมาสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้เหมาะสม

          4. แก้ไขการคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยผู้ประกันตนซึ่งไม่ส่งเงินสมทบหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ จากเดิมสำหรับเศษของเดือนถ้าถึงสิบห้าวันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งเดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง เป็น ทั้งนี้ เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่ต้องจ่าย เพื่อให้การคำนวณเงินเพิ่มค้างชำระเงินสมทบมีความชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้ประกันตน

          5. แก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนของผู้ประกันตน

                 5.1 กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างที่ได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนเวลา และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน (จากเดิม ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพจะได้รับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีตาย) เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนได้รับมากขึ้น

                 5.2 กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นผู้รับบำนาญชราภาพประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และให้นำส่งเงินสมทบเพื่อให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุกพลภาพและกรณีตายโดยสิทธิดังกล่าวไม่สามารถโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิมีหนี้อันเกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ สปส. มีสิทธิหักเงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิมีหนี้ค้างชำระกลับเข้ากองทุน (จากเดิม ผู้ประกันตนซึ่งเป็นผู้รับบำนาญชราภาพไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนอีกได้) เพื่อให้ผู้ที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับทั้งเงินบำนาญชราภาพรายเดือน และสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

          6. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรไม่เกินสองครั้ง เป็นการเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง จากเดิม 90 วัน เป็นเวลา 98 วัน หรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเพิ่มขึ้น

          7. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่จากการทำงานมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากเดิม ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็น ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพเพิ่มขึ้น

          8. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทของประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) เงินเลี้ยงชีพรายเดือน เรียกว่า เงินบำนาญชราภาพ 2) เงินบำเหน็จที่จ่ายให้ครั้งเดียว เรียกว่า เงินบำเหน็จชราภาพ และ 3) เงินที่จ่ายให้ก่อนรับเงินบำนาญชราภาพ เรียกว่า เงินบำนาญจ่ายล่วงหน้า” (จากเดิม กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพไว้ 2 ประเภท คือเงินบำนาญชราภาพ และเงินบำเหน็จชราภาพ) เพื่อกำหนดให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพก่อนที่จะได้รับนั้น สามารถมีสิทธิได้รับเงินก้อนส่วนหนึ่งก่อนได้

          9. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนมีสิทธิเลือกได้รับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ ตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาก่อน หรือสามารถนำไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน (จากเดิม กำหนดให้ผู้รับประกันตนที่ส่งงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเท่านั้น และผู้ประกันตนไม่สามารถยื่นขอรับเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาก่อนหรือสามารถนำหลักประกันมาใช้ได้)

 

วิริยะ 720x100

 

          10. กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทน หรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้สำนักงานหักเงินชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระอันเกิดจากการดำเนินการที่นำเงินชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินไว้เพื่อส่งใช้กองทุนก่อนในกรณีมีเงินชราภาพเหลืออยู่ และเมื่อหักเงินดังกล่าวแล้วเหลือเท่าไรให้ทายาทของผู้นั้นซึ่งมีชีวิตอยู่ในวันที่ผู้ประกันตน หรือผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตรา และการหักส่วนลดเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพที่จะได้รับตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (เดิม มิได้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถหักเงินชราภาพได้)

          11. กำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนและต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงานและจะต้องมิใช่ผู้ได้รับหรือเคยได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ (เดิม กำหนดให้ผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์ได้รับสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเท่านั้น) เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีอายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์แต่ไม่ถึง 60 ปีบริบูรณ์และที่ยังคงทำงานได้สามารถมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เสียก่อนที่จะได้ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทดแทนใดประโยชน์ทดแทนหนึ่งให้แล้วเสร็จก่อน

          12. แก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้าง ดังนี้

                 12.1 กำหนดให้นายจ้างซึ่งไม่ยื่นแบบรายการต่อสำนักงานภายในกำหนดเวลา หรือไม่แจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงานขอให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในกำหนดเวลา หรือไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เดิม กำหนดให้นายจ้างที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบรายงานหรือไม่แจ้งเป็นหนังสือมีความผิด)

                 12.2 กำหนดให้นายจ้างผู้ใดยื่นแบบรายการ หรือแจ้งขอเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          13. กำหนดให้มีบทเฉพาะกาล

                 13.1 กำหนดให้ให้คณะกรรมการประกันสังคมซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม .. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                 13.2 กำหนดให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ได้ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม .. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม .. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 พฤษภาคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A5286

 Click Donate Support Web 

AXA 720 x100

aia 720 x100GC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!