หมวดหมู่: ศาสนา

วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8864 ข่าวสดรายวัน


เทียนฉายอุ้ม-ไม่ยุบกก.ชุดไพบูลย์ 
อ้างไม่ยุ่ง คณะสงฆ์ แค่ปฏิรูป ฆราวาส! พระจี้เลิก
    'เทียนฉาย' โต้วุ่น อ้างกก. ปฏิรูปพุทธศาสนาฯ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคณะสงฆ์ แค่จัดการฆราวาสที่เข้าไปมีผลประโยชน์ โดยใช้ศาสนาบังหน้า เช่น กรณีพุทธพาณิชย์ คนปลอมบวชถือบาตรเรี่ยไร วอนประชาชนให้คำแนะนำ อ้างถ้าปฏิรูปศาสนาและประเทศชาติได้พร้อมๆ กันไทย ก็จะเป็นเมืองที่มีธรรมะ ด้าน 'วิษณุ' โยนประธานสปช.พิจารณา ชี้กก.ปฏิรูปฯ ตั้งขึ้นมาใหม่อยู่นอกเหนือกมธ. ทั้ง 18 คณะ รัฐบาลจึงก้าวก่ายไม่ได้ ยันรัฐไม่มองข้ามมส. ถ้ามีเรื่องของการแก้กฎหมาย ก็จะต้องหารือ คณะสงฆ์อยู่แล้ว พระเมธีธรรมาจารย์ จี้สปช.หยุดพฤติกรรมกก.ปฏิรูปพุทธฯ บางคน ระบุถ้าปล่อยไว้ทำสงฆ์แตกแยกแน่ๆ
      เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะ ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวถึงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าแกนนำที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายกลุ่มที่รับผลประโยชน์จากการอาศัยกลไกกิจการพระพุทธศาสนา รวมถึงปกป้องเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบ และดิสเครดิตฝ่ายการเมืองว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า ขอยืนยัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและวัดพระธรรมกาย เพียงแต่ออกมาแสดงให้เห็นว่า การที่ฆราวาสบางคนกล่าวจาบจ้วง ไม่ให้ความเคารพต่อพระผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เป็นสิ่งที่ ไม่เหมาะสม รวมทั้งแสดงจุดยืนว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปหรือการตรวจสอบใดๆ ก็ตาม แต่ขอให้ดำเนินการด้วยความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยมุ่งเป้าหมายไปที่จุดใดจุดหนึ่ง หากจะตรวจสอบก็ต้องทำให้เหมือนกันทั่วประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้พระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูป ในขณะเดียวกัน คณะสงฆ์ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าให้พิจารณายุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา มิเช่นนั้น จะเกิดความแตกแยกมากกว่านี้
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ประสานงานเครือข่ายพระธรรมทูตไทย และกลุ่มชาวพุทธไทยในยุโรป และสหราชอาณาจักร ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่พิเศษ/2558 เรื่องขอให้ดำเนินการยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน โดยระบุตอนหนึ่งว่า พฤติกรรมของคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ได้ดำเนินการรูปแบบต่างๆ เช่น ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อแบบรายวัน ในลักษณะการข่มขู่คุกคามว่า จะดำเนินการตรวจสอบที่นั่นที่นี่ และมีพฤติกรรมแอบแฝง แอบอ้าง โดยมักอ้างความชอบธรรมต่างๆ ในการสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคม เครือข่ายพระธรรมทูตไทย จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณา รับฟังเสียงเรียกร้องของพระสงฆ์ทั่วโลก และของชาวพุทธทั่วโลก ลงนามโดย พระโสภณพุทธวิเทศ ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายพระธรรมทูตไทย และกลุ่มชาวพุทธไทยในยุโรป และสหราชอาณาจักร
     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชี้แจงตามที่เรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิกคณะกรรมปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา โดยสปช. ที่มีนายไพบูลย์เป็นประธานนั้น เรื่องนี้คสช. เป็นคนตั้งสปช.ขึ้นมา จากนั้นประธานสปช.ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 18 คณะ สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไม่ได้อยู่ที่ตัวกมธ. แต่อยู่ที่คณะกรรมการตั้งขึ้นภายหลัง นอกเหนือจาก 18 คณะ ดังนั้นรัฐบาลจึงยุบคณะกรรมการชุดนายไพบูลย์ไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนตั้ง ถ้าจะยุบหรือ ไม่ยุบ ต้องถามประธาน สปช.ว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากรัฐบาลปล่อยให้ สปช.ทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่แทรกแซง สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือหาก สปช.ส่งเรื่องเข้ามายังรัฐบาล เราจะทำอะไรต่อหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
      "รัฐบาลแยกเรื่องศาสนากับบ้านเมืองออกจากกัน ประเด็นใดที่เป็นเรื่องศาสนา เช่น กรณีพระลิขิตว่ามีความหมายอย่างไร หรือปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพระธัมมชโย ในทางสงฆ์จะทำได้หรือไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องของคณะสงฆ์จะเป็นผู้วินิจฉัย ไม่ใช่รัฐบาล ยืนยันไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เพราะรัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องของบ้านเมืองเท่านั้น เช่น คดีความต่างๆ ขณะนี้อัยการตรวจสอบอยู่ หรือกรณีการทุจริตในเครดิตสหกรณ์ยูเนี่ยนฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ติดตามอยู่ ผิดไม่ผิดก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะใช้หลัก 3 หลักดำเนินการ คือหลักกฎหมาย หลักการให้ความเป็นธรรม และหลักการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ที่สำคัญที่สุดวันนี้เราต้องตามเอาเงินคืนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯก่อน" รองนายกฯ กล่าว
     นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลชี้แจงกับหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า การจะปฏิรูปองค์การศาสนา ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป แต่เมื่อสุดท้ายมีข้อสรุปว่าจะต้องปฏิรูป เช่นสมมติว่าต้องมีกฎหมายคณะสงฆ์ ในที่สุดต้องส่งมาใช้รัฐบาลทำ และเรื่องใดที่จะแตะต้องคณะสงฆ์ รัฐบาลไม่มีทางทำเรื่องนี้โดยพลการ หากได้รับเรื่องมา จะต้องส่งเรื่องทุกอย่างไปให้มหาเถรสมาคม(มส.) พิจารณาอีกครั้ง เพราะถือเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุดฝ่ายสงฆ์ จึงขอให้ไว้วางใจได้ว่าการดำเนินการใดของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ จะต้องผ่านมส.
    นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายเรียก พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พร้อมพระลูกวัดจำนวนหนึ่งให้ปากคำ ฐานมีชื่อในการรับเช็คจากอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นว่า เป็นหน้าที่ของดีเอสไอตามปกติ ซึ่งรัฐบาลให้ดีเอสไอและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ร่วมกันตรวจสอบคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ โดยติดตามตรวจสอบการเชื่อมโยงว่าเงินได้โอนออกไปหาใครอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ และใครเป็นผู้รับ เรื่อง ดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะ แต่เราจะตั้งข้อสังเกตไปที่การโอนเงินว่าโอนไปที่ใคร โดยในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 13.00 น. ได้เชิญหน่วยงานทั้ง 4 มารายงานความคืบหน้าในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมอบนโยบายแล้ว ส่วนการดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกายและคณะสงฆ์ รัฐบาล มีแนวทางชัดเจนอยู่แล้ว
      ด้านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องนอกกรอบการดำเนินการของสปช. หน้าที่ของสปช.คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะการปฏิรูป แต่เราไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการ ส่วนความเห็นเรื่องกิจการศาสนา เรายืนยันว่าเราไม่ได้ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะแก่สงฆ์ เพราะไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ต้องจัดการชำระปัญหาและปฏิรูปกันเอง 
   นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่สปช. มีอำนาจในการเสนอแนะเพื่อปฏิรูปนั้น เกี่ยวข้องกับฆราวาสข้องเกี่ยวกับพระศาสนา เช่น พุทธพาณิชย์ ผู้ที่ปลอมเป็นพระสงฆ์ได้ถือบาตรเรี่ยไรกลางถนน เป็นต้น อีกทั้งเรื่องคดีความที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ก็มีผู้รับผิดชอบ อยู่แล้ว โดยทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ จะต้องจัดการ ดังนั้น ตนอยากจะย้ำว่าต้องให้ประชาชนให้ข้อเสนอแนะ และช่วยกันบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งถ้าการปฏิรูปทั้งในส่วนของพระสงฆ์ และฆราวาสสำเร็จพร้อมกันก็จะเป็นประเทศที่มีธรรมะและเป็นเครื่องจรรโลงศีลธรรมอันดีของประชาชน
     นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เลขาธิการสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยไปบันทึกเทปรายการโทรทัศน์ร่วมกับนายไพบูลย์ ซึ่งตนได้ชี้แจงนอกรอบไปว่า สนพ.ไม่ได้คัดค้าน ทั้งจะสนับสนุนด้วย ในกรณีการตรวจสอบวัดพระธรรมกาย แต่การเคลื่อนไหวของสนพ.คือไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการ ปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ซึ่งนายไพบูลย์ก็เข้าใจตรงกัน แต่หลังจากนั้นนายไพบูลย์กลับออกมาให้ข่าวผ่านสื่อโดยตลอดว่า การเคลื่อนไหวของ สนพ. ได้รับการสนับสนุนจากวัดพระธรรมกาย จึงอยากแจ้งนายไพบูลย์ว่า หากยังให้สัมภาษณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก ทางสนพ.จะดำเนินการแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาท นอกจากนี้ เห็นว่าอยากให้ทางรัฐบาลช่วยเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพราะหากประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.นี้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมได้
       ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.ต.ท. ปกรณ์ สุวชีวกุล หัวหน้าพนักงานสอบสวนชุดตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กับ วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างภายในวัดพระธรรมกายเพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินของวัด และหาความเชื่อมโยงของจำนวนเงินที่มีการยักยอกจากสหกรณ์ฯคลองจั่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. เป็นต้นไป จะสอบปากคำพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และพระลูกวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเช็คจำนวน 878 ฉบับ รวมทั้งบุคคลและนิติบุคคลที่มีชื่อปรากฏในเช็คทั้งหมด โดยจะทยอยสอบปากคำวันละ 3-4 คน ส่วนคดีจะรวดเร็วหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคดียักยอกทรัพย์มีอายุความถึง 15 ปี เริ่มนับตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อปี 2552
      พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หลังพบว่านาย ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น โอนเงินให้พระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และโอนเงินต่อไปยังบุคคลอื่นอีกหลายกลุ่ม แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีกี่คน มีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารกว่า 8-9 แห่ง ทั้งนี้ ยอมรับว่าการติดตามเส้นทางการเงินเป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าจำนวนเงินดังกล่าวไปสิ้นสุดปลายทางที่ใคร
      "ถ้ามีการรับเงินแล้วโอนเงินต่อไปในช่วง 1-2 วัน ก็จะตรวจสอบได้ง่าย แต่ถ้าโอนต่อเข้าไปที่วัดแล้วพักเงินไว้เป็นเวลานาน ก่อนที่จะโอนย้ายเงินให้กับบุคคลอื่นก็จะยากในการติดตามตรวจสอบว่าเงินไปสิ้นสุดที่ใด จุดนี้ถือว่ายากในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน จะต้องใช้เวลามาก เพราะถ้าเขาไซฟ่อนเงินคนที่เกี่ยวข้องในขบวนการนี้ก็จะต้องมีความพยายามยักย้ายถ่ายเทโอนเงิน เพื่อไม่ให้ เจ้าหน้าที่ติดตามเส้นทางการเงินได้" พ.ต.ท. ปกรณ์กล่าว
      รายงานข่าวแจ้งว่า พนักงานสอบสวนชุดติดตามร่องรอยการเงินวัดพระธรรมกาย นำโดย พ.ต.ท.ปกรณ์ นำพนักงานสอบสวนลงพื้นที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เพื่อตรวจสอบมูลนิธิที่มีชื่อรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 119 ล้านบาท โดยการสอบสวนของพนักงานสอบสวนชุดแรกระบุว่าเป็นการบริจาคเพื่อนำไปก่อตั้งมูลนิธิดูแลเด็ก แต่ปัจจุบันไม่พบว่าการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ ยังได้แยกชุดพนักงานสอบสวนติดตามความเคลื่อนไหวของนายศุภชัย ซึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในอาคารยูทาวเวอร์ ที่นาย ศุภชัยนำเงินที่ยักยอกจากสหกรณ์ฯคลองจั่น ไปก่อสร้างอาคาร ดังนั้น อาคารดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินของสหกรณ์ การเข้าไปพักอาศัยโดยไม่จ่ายค่าเช่า ทำให้สหกรณ์ขาดผลประโยชน์ ขณะเดียวกันระหว่างการตรวจสอบของดีเอสไอ ปรากฏว่ามีข่าวรั่วไหลจากวงในทำให้ผู้บริหารสหกรณ์ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาลมีนบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ว่า นายศุภชัย ติดค้างค่าเช่าอาคารยูทาวเวอร์เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการให้ยุติคดีที่เชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการชะลอหมายเรียกพระธัมมชโย และพระลูกวัดเข้าให้ปากคำด้วย 
       แหล่งข่าวจากปปง. เปิดเผยว่า นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล ได้เข้าให้การโต้แย้งคำสั่งอายัดทรัพย์ บริษัท เอส.ดับบลิว. โฮลดิ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า บริษัทประกอบธุรกิจค้าอัญมณีและของเก่า รวมถึงการรับจำนำและค้าขายทั่วไป มีที่มาทรัพย์สินจากมรดกที่แม่ได้จากการขายที่ดิน โดยนายสถาพรระบุว่า ทำธุรกิจค้าอัญมณีตั้งแต่สมัย ที่ยังบวชเป็นพระวัดพระธรรมกาย โดยรู้จักกับนายศุภชัยผ่านการแนะนำของพระครูปลัดวิจารณ์ และได้ทำการซื้อขายอัญมณีเรื่อยมา กระทั่งสึกออกมาเปิดบริษัท ส่วนการนำเงินมาเพิ่มทุนของนายศุภชัยไม่ได้มีการจ่ายเงินกันจริง แต่เป็นการทำสัญญาด้วยความเชื่อใจ ต่อมาเมื่อนายศุภชัยไม่ยอมชำระเงินให้บริษัท นายสถาพรจึงรับซื้อหุ้นลมจากนายศุภชัย ไว้ทั้งหมด

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!