หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

ผิดหวัง'ส่งออก'ดำดิ่งเกินเยียวยา ดับฝันเศรษฐกิจไทย 58 ส่อวืดเป้า..โตไม่ถึง 3%


ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์, นพพร เทพสิทธา

     จากตัวเลขส่งออกเดือนพฤษภาคม 2558 อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าติดลบหนัก 5.01% มีมูลค่า 18,429 ล้านเหรียญสหรัฐส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสะสม 5 เดือนแรกของปี 2558 ติดลบ 4.2% มีมูลค่า 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อดูลึกในรายละเอียด พบว่าติดลบหนักเพราะรายการสินค้าส่วนใหญ่ ในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร-เกษตรแปรรูป ติดลบค่อนข้างสูง แต่ละรายการเกิน 10% กว่าครึ่ง 

      ด้านตลาดส่งออกก็ไม่แพ้กัน ส่วนใหญ่ติดลบต่อเนื่อง บางตลาดที่ไม่เคยติดลบก็กลับมาติดลบ อย่างอาเซียนเก่าลดลง 7.2% ขณะที่ตลาดความหวัง ก็ยังไม่ดีขึ้น ตั้งแต่ญี่ปุ่นลดลง 4.1% เกาหลีใต้ลดลง 15.9% สหภาพยุโรป (อียู) ลดลง 13.7% ส่วนตลาดส่งออกที่ยังเติบโตแต่ก็เติบโตในอัตราไม่สูง บางประเทศโตลดลงด้วยซ้ำ อาทิ สหรัฐเติบโต 0.4% จีนเติบโต 3.3% ออสเตรเลีย เติบโต 18.2% และกลุ่มซีแอลเอ็มวี เติบโต 3.5%

     เรียกความผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะก่อนหน้านี้ หน่วยงานรัฐและนักวิชาการออกมาเปรยๆ ว่าแนวโน้มการส่งออกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมน่าจะดีดกลับมาเป็นบวก เพราะผ่านจุดติดลบต่ำสุดแล้ว แย่สุดก็ติดลบเล็กน้อย หลังจาก 2 เดือนก่อนหน้าติดลบในอัตราต่ำ 

      เหตุที่มองอย่างนั้น เพราะเดือนเมษายนปีนี้ จำนวนวันหยุดทำการมาก ทำให้การส่งมอบการขนส่งสินค้าถูกเลื่อนเป็นเดือนพฤษภาคมแทน และฐานมูลค่าส่งออกเดือนพฤษภาคมปีก่อนก็ไม่ได้สูงนัก น่าจะมีโอกาสส่งออกได้เกิน 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

      เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ภาคเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐ ปรับเปลี่ยนมุมมองและปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งจากที่มั่นใจ เศรษฐกิจไทยปี 2558 ขยายตัว (จีดีพี) เกิน 3% ต้องต่ำลง

 

- ปัจจัยลบใหม่ๆรุมเร้าซ้ำเติมศก.ยิ่งแย่

      ที่ออกตัวเร็วสุด คือสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) ประกาศลดตัวเลขส่งออก จากเดิมคาดว่าจะไม่เติบโตจากปี 2557 เป็นติดลบ 2% เพราะเชื่อว่ามูลค่าเฉลี่ยการส่งออกในครึ่งปีหลัง 2558 ไม่น่าจะเกินเดือนละ 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากทำมูลค่าได้ตามนี้ถึงจะเป็น 0% โดยเชื่อว่ามูลค่าเฉลี่ยยังต่ำกว่า 18,700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน หากต่ำกว่านี้ได้เห็นติดลบ 3.5% แน่นอน

      สภาผู้ส่งออกฯ ให้เหตุผลว่าเอกชนยังวิตกเรื่องยูโรโซนจากปัญหากรีซที่ทิศทางไม่สดใสนัก ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลกยังสูง ศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไม่ดีขึ้น ปัญหาด้านโลจิสติกส์ต้นทุนสูงและไม่เพียงพอ สถานการณ์ภัยแล้งและการเกิดพายุอาจทำให้ผลผลิตได้ไม่ดีพอซึ่งจะกระทบต่อผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง กฎระเบียบการค้าชายแดน สิทธิประโยชน์ทางภาษี อยู่ระหว่างปรับตัว ความผันผวนของค่าเงินบาทยังสูงและค่าบาทอ่อนยังไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 นี้ ทั้งหมดนี้จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ต่ำลงต่อไปอีกในไตรมาส 3!

โดยปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ก็จะเห็นการปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ ทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากเดิมคาดการณ์โตเกิน 3% หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เดิมคาดไว้ 3.7%

      เพราะตัวเลขเดิมนั้น ยังไม่ได้หยิบยกผลกระทบจากปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ปักธงแดงไทย ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ซึ่งจะชี้ชะตาในปลายไตรมาส 3 นี้ เฉพาะไอยูยูหากไทยถูกขึ้นบัญชีดำ จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าทะเลไปอียูซึ่งหายไปทันทีกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงปัญหากรีซเลื่อนชำระหนี้ แผนลงทุนภาครัฐยังไม่เป็นรูปธรรมมีหลายโครงการเลื่อนไปปลายปีหรือต้นปีหน้า และการประมูล 4จี ที่มีโอกาสเลื่อนออกไป

      ตอนนี้ ก็เริ่มเห็นผลวิเคราะห์ของสถาบันการเงิน ปรับลดมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 3% แล้วทั้งสิ้น ยกเว้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทย ยังมองในภาพบวกโต 3.2% แม้มองส่งออกเป็น ลบ 1-2% เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายจะผลักดันส่งออกโต 1.2% บนพื้นฐานเศรษฐกิจโต 3% 

 

- นักวิชาการฟันธงจีดีพีปีนี้โตไม่ถึง3%

      ด้านทีม ครม.เศรษฐกิจ ก็เริ่มหวั่นไหว ออกมาเปรยๆ ถึงการส่งออกที่ติดลบหนัก ห่วงจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดหวังไว้ 3-4% อาจต้องสะดุดลง ! 

       นักวิชาการชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ หรือจีดีพีอย่างไรก็โตไม่ถึง 3% เพราะจีพีดีไทยจะโตเท่าไหร่ต้องพึ่งพารายได้ส่งออก เป็นหลัก สัดส่วนกว่า 60% เมื่อติดลบรายได้ปีนี้ควรได้เกิน 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อาจเหลือแค่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หายไปหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แม้หวังรายได้จากการท่องเที่ยวที่ปีนี้โตวันโตคืน แต่ก็มีสัดส่วนแค่ 10% ของจีพีดี ยิ่งถูกกดดันด้วยภาคบริโภค บริการ และลงทุน ที่ยังไม่ดีนัก ที่มีสัดส่วนกว่า 10% ก็ไม่ได้ตามคาด

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุดับฝันเศรษฐกิจไทยปี 2558 ตกต่ำกว่า 3% อีกครั้ง!

      ที่ต้องลุ้นต่อคือ ตัวเลขส่งออกทั้งปีนี้จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และทุบสถิติติดลบมากสุดหรือไป นั่นหมายถึงจะไปกดตัวเลขเศรษฐกิจให้ดิ่งต่ำลงอีก ....

 

- หอค้าฯภาคกลางแนะใช้ประชานิยมกระตุ้นบริโภค 

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย 

         "เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวแค่ปีละ 2-3% ถือว่าเป็นเรื่องปกติในขณะนี้ หากโต 4-5% สิถือว่าไม่ปกติ แสดงว่าปีนั้นการส่งออก การบริโภค และการท่องเที่ยว ดีมาก ขณะที่การก่อหนี้รัฐต่ำ ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่าจะผลักดันเศรษฐกิจโตเกิน 3% ในปีนี้น่าจะยาก ดูจากความเป็นจริง แม้ตัวเลขด้านต่างๆ ที่เคยติดลบมากจะติดลบน้อยลง แต่ปัจจัยรุมเร้าก็ยังสูง ตั้งแต่การส่งออกน่าจะติดลบ 1-2% และปัญหาเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่ไทยต้องแก้ไข ทั้งเรื่้องปัญหาการบิน ปัญหาประมงไม่ถูกกฎหมาย และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้ง ไม่อาจประเมินได้ว่าจะกินวงกว้างแค่ไหน 

       ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ ที่เอกชนเป็นห่วงคือ อารมณ์ของกำลังซื้อไม่มี ดังนั้น รัฐบาลต้องออกมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย และสร้างบรรยากาศให้คนใช้จ่ายเพิ่ม อาจใช้มาตรการเชิงประชานิยมบ้าง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มมีปัญหาหนักสุด เช่น ชาวนา ที่ไม่มีรายได้จากภัยแล้ง กลุ่มหนี้สินมาก หรือแม้ปัญหาประมงก็ต้องปลดล็อกกลุ่มประมงพื้นบ้านก่อน หรือจะช่วยผู้ประกอบการก็ควรเน้นสร้างอาชีพในวันข้างหน้า อย่างทองม้วน ที่สิงคโปร์ทำขายดี เพราะเขาเพิ่มดีไซน์ แต่ไทยยังเน้นที่รสชาติแต่ไม่ได้ทำหีบห่อที่จูงใจ เราต้องพัฒนามากในเรื่องนี้ ก็เห็นใจรัฐบาลดูเหมือนกำลังอยู่ในทาง 3 แพ่ง ทรงตัว ลบเบา หรือ ลบหนัก "

 

- โหมท่องเที่ยว-รัฐเร่งลงทุนทดแทน 

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) 

       "หลังจากตัวเลขส่งออกเดือนพฤษภาคม ออกมาติดลบสูงเกิน 5% และดูแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านหดตัวลง ไทยยังเผชิญปัญหากฎระเบียบการบินและการประมง และปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ปัญหากรีซ จะเป็นปัจจัยกดดันให้การส่งออกไทยปีนี้ติดลบเพิ่มเป็น 2-3.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 0% หรือติดลบ 1% ดังนี้ ย่อมกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 3% แน่นอน จากเดิมคาดการณ์ไว้ 3% ส่วนตัวเลขเป็นเท่าไหร่ คงต้องดูสถานการณ์ปัจจัยในไตรมาส 3 ก่อนว่าจะรุนแรงขึ้นหรือคลี่คลายลง 

      ส่วนตัว ผมห่วงเศรษฐกิจมาก จีดีพีไทยพึ่งพาส่งออกถึง 60% ตามหลักเมื่อการส่งออกหายไป 1 ส่วน จะกระทบต่อเศรษฐกิจหดตัวลง 1.5 ส่วน ครึ่งปีหลังเหลือการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ประชาชนยังระมัดระวังใช้จ่าย ระแวงปัญหาการเมืองเริ่มกลับมาอีก เอกชนมองว่า กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้คงอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ทางออกที่ต้องเร่งทำ คือ ผลักดันการท่องเที่ยว ที่ดีอยู่ให้ดีขึ้น อีกเป็นเท่าตัว รัฐต้องเร่งลงทุนให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่กับการเร่งการใช้จ่ายภาคเอกชน ผ่านความช่วยเหลือด้านการเงินการคลัง แต่ก็ไม่อยากให้ทำแบบใช้เงินงบประมาณแบบสุรุ่ยสุร่าย เหมือนที่ผ่านมา ควรช่วยเพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้านอก แม้การลดดอกเบี้ยเชิงนโยบายแต่ธนาคารก็ยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ก็ไม่ส่งผลมากนักต่อธุรกิจ รัฐบาลต้องปรับวิธีการกระตุ้นที่เจาะลงไปกลุ่มที่มีปัญหาและรากหญ้าให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่การใช้เงิน แต่มองเรื่องศักยภาพงานที่จะเกิดขึ้น"

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!