TMILL ประเมินทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลัง 67 ดีขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายตลาดอัพยอดขายแป้งสาลี
นางแววตา กุลโชตธาดา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน (CFO) บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL โรงงานโม่แป้งสาลีรายใหญ่และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 2567 จะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านราคาจำหน่าย ต้นทุน รวมไปถึงอัตรากำไรจะดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากได้วางแผนขยายตลาดเพิ่มยอดขายแป้งสาลี ประกอบกับสต็อกข้าวสาลีที่ราคาสูงน่าจะหมดไปในไตรมาส 2 นี้ และราคาตลาดข้าวสาลีมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งย่อมสะท้อนไปยังราคาจำหน่ายแป้งสาลีที่น่าจะปรับสูงขึ้นเช่นกัน
ขณะเดียวกันบริษัทฯ จะเน้นการบริหารต้นทุนด้านราคาวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาต้นทุน และราคาจำหน่ายแป้งสาลี พร้อมกันนี้ TMILL ยังคงยึดมั่นในการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น โดยได้มีการเสนอจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอีก 0.07 บาทต่อหุ้น ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และยังมุ่งมั่นดำเนินงานตามกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ความยั่งยืน “เรา” จะเติบโตไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าทางสังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยผนวกแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกับธุรกิจ และดำเนินนโยบายและเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับการทบทวนพันธกิจขององค์กรให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ส่งคาราวาน Tmill เพื่อสังคม เพื่อเดินหน้าสร้างความสุข รอยยิ้ม และความเข้มแข็งให้ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่างๆประจำเดือนที่บริษัทฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลประกอบการ ไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ แสดงผลการดำเนินงานกำไรสุทธิ 9,000 บาท และมีรายได้จากการจำหน่ายอยู่ที่ 436.06 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 สาเหตุที่ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีเฉลี่ยลดลง โดยตั้งแต่ปี 2564-2565 ราคาตลาดข้าวสาลีและแป้งสาลีปรับสูงขึ้นมาก แต่ราคาตลาดข้าวสาลีปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมาและลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์ความผันผวนของราคาวัตถุดิบโลกนี้ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีนัก ส่งผลให้บริษัทฯ มียอดจำหน่ายแป้งต่ำกว่าเป้าหมายตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา และทำให้มีสต็อกวัตถุดิบที่ราคาสูงคงเหลือยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในด้านราคาจำหน่ายกลับถูกลูกค้าต่อรองราคาให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จำเป็นต้องยอมขายขาดทุนเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ โดยที่ยังต้องแบกรับภาระสต็อกข้าวที่มีต้นทุนสูงอยู่ ส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงอย่างมาก จึงส่งผลต่อผลประกอบการในไตรมาสนี้
5601