หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 47


โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอดังนี้

         1. รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ โดยคณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน (คณะทำงานฯ) 

          2. เห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) และหน่วยงานตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ มอบหมาย 

          โดยมอบหมายหน่วยงานรับความเห็นของ กค. ไปดำเนินการ ดังนี้

         1) มอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.) กค. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินการดำเนินโครงการฯ

          2) มอบหมายคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ) ที่จะจัดตั้งขึ้นร่วมกับ กค. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบละเอียดโครงการฯ การลงทะเบียนโครงการฯ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

         3) ในการดำเนินโครงการฯ ควรมุ่งเน้นการกำกับดูแลการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ข้อกฎหมายรวมถึงรักษากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบ และเคร่งครัด

         สาระสำคัญของเรื่อง

         1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 ตุลาคม 2566) เห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 262/2566 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดนโยบายโครงการฯ วัตถุประสงค์โครงการฯ แนวทางการดำเนินโครงการฯ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เป็นต้น

          2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (20 กุมภาพันธ์ 2567) รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet1 (ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตฯ) ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายฯ รับเรื่องนี้ไปพิจารณาให้ได้ข้อยุติและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 เมษายน 2567) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ เสนอ และให้คณะกรรมการนโยบายฯ เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

         3. คณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวการประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีมติ (1) รับทราบผลการรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะของหน่วยงานต่างๆ (เบื้องต้น) ที่คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการ (2) เห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ (3) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองมติการประชุมดังกล่าวและมอบหมายให้ กค. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 คณะทำงานฯ ได้รวบรวมข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนสำหรับโครงการฯ เพิ่มเติมจากที่เคยเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เช่น การดำเนินโครงการฯ ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ มีจำนวน 14 หน่วยงานตอบในกลุ่มคำถามนี้ ซึ่งมีหน่วยงานเห็นด้วยร้อยละ 86 โดยให้เหตุผลหลัก คือ ภาครัฐควรต้องมีการควบคุมราคาสินค้าในช่วงดำเนินโครงการนี้ และไม่เห็นด้วยร้อยละ 21 เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงที่มีโครงการและไม่ควรดำเนินโครงการนี้เนื่องจากสิ้นเปลืองงบประมาณ และมีเหตุผลอื่นร้อยละ 36 โดยให้เหตุผลหลัก คือ โครงการไม่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดเงินเฟ้อและเศรษฐกิจหดตัวเมื่อสิ้นสุดโครงการ เป็นต้น (ยังไม่ได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ รับทราบ) 

         4. คณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

 

รายละเอียด

วัตถุประสงค์

 

เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

กลุ่มเป้าหมาย

 

ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1) กลุ่มประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน

(2) สัญชาติไทย

(3) มีอายุเกิน 16 ปี เดือนที่มีการลงทะเบียน

(4) ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี

(5) เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

แนวทางการเข้าร่วมโครงการฯ

 

(1) ประชาชนทุกคนต้องยืนยันตัวตนก่อนเข้าร่วมโครงการฯ โดยให้กลุ่มผู้ใช้สิทธิยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ

(2) ตรวจสอบสถานะบุคคลและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านกับข้อมูลกรมการปกครองของผู้ใช้สิทธิ

(3) ประชาชนเปิดแอปพลิเคชันเพื่อแสกน QR Code ร้านค้าในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน

ทั้งนี้ ผู้จัดทำระบบจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการเข้าร่วมโครงการฯ ของประชาชนข้างต้น ตลอดจนเงื่อนไขอื่นที่อาจเพิ่มเติมภายหลัง (หากมี)

เงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า

 

(1) การใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างประชาชนและร้านค้าในระดับอำเภอ (878 อำเภอ)

(2) การชำระเงินภายใต้โครงการฯ ต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) 

(3) กำหนดให้ประชาชนใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กและร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก

ประเภทร้านค้า

 

ร้านค้าที่จะเข้าโครงการฯ แบ่งตามการรับการใช้จ่ายได้ ดังนี้

(1) ร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็กรวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก - ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

(2) ร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้าไม่มีการกำหนดเงื่อนไข

ทั้งนี้ รูปแบบและขั้นตอนการยืนยันตัวตน และเงื่อนไขการสมัครและวิธีการสมัครของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เป็นไปตามที่ พณ. กำหนด

ประเภทสินค้า

 

(1) กำหนดให้สินค้าทุกประเภทเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ซึ่งได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ มอบหมายให้ พณ. พิจารณาสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติมได้

(2) การใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ

 

หน่วยงานผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนร้านค้า

 

 

ประเด็น

 

หน่วยงาน

(1) กรอบแนวทาง กรอบหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการฯ (ระหว่างประชาชนกับร้านค้า)

 

ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ

(2) หลักเกณฑ์การสมัครร้านค้าเข้าร่วมโครงการฯ

 

พณ.

(3) แบบฟอร์มการลงทะเบียนดิจิทัล

 

ดศ. ร่วมกับ สพร.

(4) ระบบฐานข้อมูลร้านค้าของหน่วยงานต้นสังกัด

 

พณ. ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย

(5) ระบบการเคลียร์ริ่งเฮาส์ (การเงิน) : การชำระเงินผ่านระบบระหว่างประชาชนกับร้านค้าและระหว่างร้านค้ากับร้านค้า

 

ดศ. ร่วมกับ สพร.

(6) การคัดกรองข้อมูลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ

 

ดศ. ร่วมกับ สพร.

(7) การตรวจสอบการมีอยู่จริงของร้านค้าที่ลงทะเบียนในระบบ (ในพื้นที่เขตอำเภอ)

 

มท. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร

(8) ระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล

 

ดศ.

(9) ตรวจสอบ วินิจฉัย ร้องทุกข์ กล่าวโทษ การเรียกคืน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

เงื่อนไขการใช้จ่ายระหว่างร้านค้า

 

ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและการชำระเงินภายใต้โครงการฯ ต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face)

เงื่อนไขคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้

 

ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้แก่

(1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ

(2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) หรือ

(3) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินในโครงการฯ และการถอนเงินสดจากโครงการฯ

 

(1) วิธีการใช้จ่ายเงิน : การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ

       (1.1) รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็กเท่านั้น ทั้งนี้ เงื่อนไขร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ เป็นไปตามที่ พณ. กำหนด

       (1.2) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขร้านค้า

(2) ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

(3) ร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินสดได้เฉพาะร้านที่มีคุณสมบัติตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยมีการยื่นขอเบิกจ่ายผ่านผู้จัดทำระบบและผู้จัดทำระบบมีหน้าที่โอนเงินให้ร้านค้าที่เบิกจ่ายโดยตรง

ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบ

 

มอบหมายให้ สพร. และ ดศ. เป็นผู้พัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1) ประชาชน 

       (1.1) ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติกลุ่มเป้าหมายตามเงื่อนไขโครงการฯ เช่น อายุ เงินได้พึงประเมิน เงินฝาก เป็นต้น

       (1.2) ระบบยืนยันตัวตนสำหรับประชาชนและการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง

(2) ร้านค้า

       ระบบลงทะเบียนและตรวจคุณสมบัติร้านค้า (ตามเงื่อนไขที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

(3) ระบบการใช้จ่าย

       (3.1) ระบบการใช้จ่ายรอบที่ 1: การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กเท่านั้น

       (3.2) ระบบการใช้จ่ายรอบที่ 2 ขึ้นไป: การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขร้านค้า

(4) ระบบการชำระเงิน

       (4.1) ระบบการใช้จ่ายสำหรับการชำระบัญชี (Clearing and Settlement) ระหว่างบัญชีของประชาชนและบัญชีของร้านค้าที่ธนาคารที่รับชำระเงิน (Open Loop)

       (4.2) ระบบการชำระเงินให้ผู้ประกอบการร้านค้าโดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขแหล่งเงิน

       (4.3) ตรวจสอบร้านค้าที่ตรงตามเงื่อนไขในการถอนเงินได้ (ร่วมกับกรมสรรพากร

       (4.4) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยรับงบประมาณและเบิกจ่ายเงิน โดยจะต้องกระทบยอด (Reconcile) ความถูกต้องของเงินที่จะเบิกจ่าย

       ทั้งนี้ ระบบการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและร้านค้าเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของทุกรายการใช้จ่ายตามเงื่อนไข รวมถึงการชำระบัญชีของโครงการฯ ตามเงื่อนไขทั้งหมดจนจบโครงการและบริหารจัดการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(5) ระบบอื่นๆ เช่น

       (5.1) ระบบตรวจสอบธุรกรรม (Transaction) ที่มีความต้องสงสัยเข้าข่ายการกระทำผิดเงื่อนไข (Fraud) 

       (5.2) ระบบอื่นๆ ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้โครงการฯ สามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จ

             (5.2.1) กำหนดวันที่ในการลงทะเบียนร้านค้า วันที่ลงทะเบียนประชาชน และวันที่เริ่มใช้จ่าย

             (5.2.2) ระบบที่เตรียมให้ประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีการให้ยืนยันหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และความยินยอมสำหรับประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ (Consent) 

       (5.3) กำหนดชื่อเว็บไซต์และจำทำเว็บไซต์ (Website) สำหรับใช้ดำเนินโครงการ

แหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ

 

เป็นเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท จำแนกได้ ดังนี้

(1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ .. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ .. 2568 เพื่อให้มีแหล่งเงินในการรองรับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

(2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท ซึ่งจะพิจารณานำมาสนับสนุนการดำเนินนโยบายรัฐภายใต้วัตถุประสงค์และกฎหมายจัดตั้งของหน่วยงานรัฐนั้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ทั้งนี้ ในการดำเนินการต้องสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอยู่ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานดังกล่าวด้วย

(3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ .. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ .. 2567 มีความล่าช้าในการประกาศใช้ จึงอาจพิจารณาแนวทางการบริหารเงินงบประมาณในปี 2567 ร่วมกับสำนักงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้งบประมาณ เช่น การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นหรืองบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในปีงบประมาณ .. 2567 การใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น

ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ

 

เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ .. 2567 และ .. 2568 ในการดำเนินโครงการฯ ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569

แนวทางการตรวจสอบและวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์

 

คณะกรรมการนโยบายฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

(1) คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดแนวทางการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบกรณีมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการตามโครงการฯ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน

(2) คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งสามารถกำหนดรายละเอียดที่ไม่ขัดต่อกรอบหลักการเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการฯ ได้ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน

ประโยชน์

 

จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยการดำเนินโครงการฯ ที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ ได้พิจารณากำหนดกรอบการดำเนินโครงการฯ ที่ระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

 

___________________

1 คณะกรรมการนโยบายฯ ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตฯ ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วและมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยรับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบและครบถ้วน รวมทั้งรายงานผลการรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นให้คณะกรรมการนโยบายฯ ทราบ เพื่อรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 83/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กับการดำเนินโครงการฯ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567

 

 

4708

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C J

MTL 720x100

QIC 720x100

AXA 720 x100aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

SME 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

gen 720x100

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!