หมวดหมู่: สิ่งแวดล้อม

08198 EEC1


 

ระยองโมเดล ‘เปลี่ยนขยะ เป็นขุมทรัพย์’ รับมือปัญหาสิ่งแวดล้อม EEC

“ขยะ” เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ในการพัฒนาเมืองทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่โครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศอย่างอีอีซี หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่มุ่งเป้าให้เป็นรากฐานสำคัญของการผลิตด้านอุตสาหกรรมหลัก และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยพบว่าพื้นที่อีอีซี มีปริมาณขยะมูลฝอย 4,268 ตันต่อวัน แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรีมีปริมาณขยะรวม 2,591 ตันต่อวัน รองลงมาคือระยองมีปริมาณขยะ 967 ตันต่อวัน และฉะเชิงเทรามีปริมาณขยะเกิดขึ้นรวม 709 ตันต่อวัน รวมทั้งยังมีขยะที่รับจากกรุงเทพฯ เพื่อกำจัดในพื้นที่ฉะเชิงเทรา อีกสูงถึงวันละ 2,000 – 3,000 ตันต่อวัน (ข้อมูลสำรวจจากกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2561) และที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ปริมาณขยะก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ที่ผ่านมา การกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซี ส่วนใหญ่จะใช้ระบบฝังกลบ เพราะมีต้นทุนต่ำและใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ทว่าในแต่ละชุมชนก็ยังมีการกำจัดขยะไม่ถูกวิธี รวมถึงยังไม่มีระบบบริหารจัดการที่ชัดเจนในการกำจัดขยะติดเชื้อ ส่งผลกระทบทำให้น้ำใต้ดินเกิดปัญหาปนเปื้อนจากการรั่วซึมในพื้นที่ฝังกลบขยะ ที่สำคัญ ปัจจุบันเขตฝังกลบขยะในอีอีซีได้กระจายตัวจนเกือบเต็มพื้นที่แล้ว และยังเปิดใช้งานมากว่า 10 ปี จึงทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เพียงพอ รวมทั้งปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นอนาคต

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการปัญหาขยะ พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 4 ข้อ ได้แก่ 1. การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การกำจัดกับปริมาณขยะมูลฝอย ความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 2. การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชนอย่างน่าอยู่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง 3. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างกลไกการตรวจสอบการปล่อยมลพิษและของเสีย 4. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าต้นน้ำและดิน เป็นต้น

โดยพร้อมจะเร่งขยายผล ต้นแบบนำร่อง “โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง” (Rayong Waste to Energy Project) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือปตท. ซึ่งนำขยะที่ได้จากการคัดแยกมาป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตไฟฟ้า RDF ขนาด 10 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะได้สูงถึง 500 ตันต่อวัน ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเปลี่ยนขยะไม่มีประโยชน์สู่การสร้างมูลค่า จนให้ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ในระดับที่น่าลงทุน และด้านสังคมที่ช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐในการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมและชุมชน ตลอดจนผลบวกด้านสิ่งแวดล้อมในการคืนพื้นที่สีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะในหลุมฝังกลบได้มากกว่า 2.2 แสนตันต่อปี รวมถึงผลตอบแทนทางอ้อม ช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นมีรายได้จากโครงการ เช่น สารปรับปรุงดิน ประหยัดงบการสร้างหลุมฝังกลบ รายได้จากค่าบำบัดน้ำเสีย รายได้น้ำดิบ รวมประมาณ 2,323 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าจ้างกำจัดขยะอีก 100 บาทต่อตัน

08198 EEC2

สำหรับก้าวต่อไปของอีอีซี จะได้เร่งระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนในพื้นที่ เพื่อตระหนักถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้น พร้อมร่วมกันศึกษาความเหมาะสม แนวทางการขยายผล “โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง” ดังกล่าว รวมถึงการใช้กลไกของอีอีซี ที่จะเร่งส่งเสริมการตั้งโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะภายในพื้นที่ ซึ่งจะรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงการนำขยะฝังกลบ มาทยอยกำจัดควบคู่ไปด้วย เพื่อคืนพื้นที่ฝังกลบขยะเดิม กลับมาใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะ หรือเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนได้ ในอนาคตอันใกล้

ปัญหาขยะ ต้องสร้างความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ที่สำคัญที่สุด คือ จิตสำนึกตระหนักรู้ในการคัดแยกขยะ และลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและทำได้ทันที เพื่อคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีในวันนี้ และอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป

 

AO08198

3

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!