หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 34


ร่างกฎกระทรวงวัตถุตำรับยกเว้น พ.ศ. ....

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงวัตถุตำรับยกเว้น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 

          ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

          สธ. เสนอว่า

          1. ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดวัตถุตำรับให้เป็นวัตถุตำรับยกเว้นจากมาตรการควบคุม เช่น (1) การมีใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งสำหรับการขายวัตถุออกฤทธิ์ (2) การขอรับใบอนุญาตเฉพาะคราวสำหรับการนำเข้าหรือส่งออกแต่ละคราว (3) การปฏิบัติการเกี่ยวกับการนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือ (4) การจัดให้มีคำเตือนหรือข้อควรระวัง โดยให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ที่ประสงค์จะขอให้วัตถุตำรับใด เป็นวัตถุตำรับยกเว้นสามารถยื่นคำขอได้ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564) โดยให้บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติด 

          2. โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกำหนดให้วัตถุตำรับใดเป็นวัตถุตำรับยกเว้นได้ ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 อย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่างปรุงผสมอยู่ (2) มีลักษณะที่ไม่อาจก่อให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง (3) ไม่สามารถจะแยกสกัดเอาวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตำรับนั้นกลับมาใช้ในปริมาณที่จะทำให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง และ (4) ไม่ก่อให้เกิดอันตรายทางด้านสุขภาพและสังคมได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง สธ. จึงมีความจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงวัตถุตำรับยกเว้น พ.ศ. .... เพื่อให้มีมาตรการหรือยกเว้นมาตรการควบคุมตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

              2.1 กำหนดวันใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

              2.2 กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ที่ประสงค์จะขอให้วัตถุตำรับใดเป็นวัตถุตำรับยกเว้นให้ยื่นคำขอตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้

              2.3 กำหนดให้ผู้จะยื่นคำขอตามข้อ 2.2 ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการผลิตหรือนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

              2.4 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศระบุวัตถุตำรับให้เป็นวัตถุตำรับยกเว้นจากมาตรการควบคุมประการหนึ่งประการใด หรือหลายประการ ดังนี้

                    2.4.1 การมีใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง สำหรับการจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4

                    2.4.2 การขอรับใบอนุญาตเฉพาะคราวสำหรับการนำเข้า หรือส่งออกแต่ละคราว ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ทั้งนี้ ในการนำเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้รับอนุญาตในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวจากผู้อนุญาตทุกครั้งที่นำเข้าหรือส่งออกอีกด้วย

                    2.4.3 การจัดให้มีคำเตือนหรือข้อระวังเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้ 

                    2.4.4 กำหนดให้ยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือยื่นคำขอ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือสถานที่อื่นที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          3. ในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 22 - 8/2566 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และ สธ. ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แล้ว โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายและเว็บไซต์กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. ระหว่างวันที่ 2 - 17 ตุลาคม 2566 และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์แก่ประชาชนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้

          4. ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายหลังพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ซึ่ง สธ. ได้เสนอขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรองซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ตามที่ สธ. เสนอ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567

 

 

4719

Click Donate Support Web 

SME 720x100 66

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kbank 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

iconmotor

gen 720x100

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!